บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม 4.67/5 (3)

บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ที่ไม่ควรมองข้าม เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ โรคที่เกิดจากบุหรี่ที่พบได้บ่อย 6 ใน 8 อันดับของโลก ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ , โรคหลอดเลือดสมอง , โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง , โรคถุงลมโป่งพอง , วัณโรคปอด และมะเร็งปอด

เรียบเรียงโดย พญ.ธันยพร ชื่นจิตกุลถาวร

 บทความดัดแปลงจาก facebook เพจ เรื่องเล่าจากหมอมะเร็ง

          บุหรี่เริ่มต้นด้วยการสูบอย่างเป็น “แฟชั่น” “กระแสสังคม” “ค่านิยม” ลงเอยที่โรคร้ายต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น สังคมจึงหันมารณรงค์เรื่องการเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น รวมถึงมีกฎหมายควบคุมพื้นที่สำหรับให้สูบบุหรี่ เพื่อเป็นการป้องกันคนที่ไม่สูบบุหรี่ไม่ให้ได้รับอันตรายที่เกิดจากควันบุหรี่ไปด้วย คนที่สูบบุหรี่จึงเริ่มมีการหาทางออกโดยการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน โดยใช้แบตเตอรี่มาสร้างความร้อนให้ของเหลวระเหยเป็นไอ ซึ่งรู้จักกันในนาม “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” โดยคาดหวังว่าอันตรายที่เกิดจากการเผาไหม้จะหายไป และลดอัตราของการเกิดโรคถุงลมโป่งพองและโรคมะเร็งได้ แต่ความจริงแล้วการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็อันตรายไม่แพ้บุหรี่ควันเลย

บุหรี่ไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แบ่งตามส่วนประกอบ และการเผาไหม

บุหรี่ไฟฟ้า หากจะแบ่งตามส่วนประกอบ ได้แก่ แบบที่มีนิโคติน และ แบบที่ไม่มนิโคติน

ส่วนการแบ่ง ตามการเผาไหม้ ได้แก่

  1. แบบที่ใช้แบตเตอรี่สร้างความร้อนให้น้ำยาระเหย (Battery-Powered-Cigarette) ซึ่งแบบนี้จะไม่มีการเผาไหม้ จึงทำให้ไม่มีคาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้อย่างเพียงพอ และ Tar หรือน้ำมันดิน ในไอระเหย
  2. แบบที่ใช้การเผาไหม้ด้วยความร้อนต่ำ (Heat-Not-Burn (HNB) Tobacco Products) ซึ่งจะมีการเผาไหม้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า (350 องศาเซลเซียส) การสบูบุหรี่ปกติ (750 องศาเซลเซียส) ที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า I Quit Ordinary Smoking (IQOS)

วนประกอบน้ำยาบุหรี่ไฟฟ

ถ้าเราตรวจน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะพบว่า มีส่วนประกอบ ได้แก่

  • กลีเซอริน (Glycerin) จากพืช เป็นน้ำมันที่ทำให้มีรสหวาน และ โพรพิลีนไกลคอล (Propylene Glycol)
  • นิโคติน (Nicotine) โดยมักจะอยู่ที่ระหว่าง 0-24 มิลลิลิตร ซึ่งทำให้เสพติด และทำให้ผู้สูบรู้สึกผ่อนคลาย หายเครียด แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความแตกต่างที่บางครั้ง มีการผสมมากเกินมาตรฐานและสามารถดูดซึมได้ดีกว่าบุหรี่ปกติและแผ่นแปะ จนเกิดพิษได้ ได้แก่ ปวดศีรษะ ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตต่ำ จนเสียชีวิตได้

ไอระเหยจากรสชาติและกลิ่นปรุงแต่งต่าง ๆ

เมื่อตรวจสอบไอระเหยที่ออกมาจากบุหรี่ไฟฟ้าจะพบว่ามีสารซึ่งเพิ่มเติมมาจากในน้ำยาก่อนสูบ ได้แก่

  • อะซิโตน (Acetone) ซึ่งเหมือนกับการซดน้ำยาล้างเล็บไปซักขวด อาจจะทำให้ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ความดันตก ซึม สลบ
  • อะเซทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) จะทำให้มีอาการระคายเคืองของทางเดินหายใจ ตา ผิวหนัง จนกระทั่ง เกิดปอดอักเสบรุนแรง และน้ำท่วมปอด
  • ฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นกลุ่มสารเดียวกับน้ำยาฉีดศพ ซึ่งจะทำใหเกิดอาการ ระคายเคืองได้เช่นเดียวกับอะเซทัลดีไฮด์ และยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย
  • โลหะหนัก ได้แก่ แคดเมียม , ตะกั่ว , นิกเกิล , สังกะสี , อะลูมินัม , เงิน และทองแดง
  • ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ควันจากการสูบบุหรี่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5

ผลร้ายของบุหรี่ไฟฟ

บุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็งหลายชนิด อาทิ

  • สารก่อมะเร็งกลุ่ม Tobacco-Specific Nitrosamines (TSNAs) ที่พบน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป
  • สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ volatile organic compounds เช่น เบนซีน (benzene), โทลูอีน (toluene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
  • สารประกอบคาร์บอนิล หรือ carbonyl compounds เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ และ อะเซทัลดีไฮด์ ซึ่งพบในระดับที่สูงมากในบุหรี่แบบ tank-style with high voltage battery
  • สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) และ พอลิไซคลิกแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbons)

ซึ่งสารเหล่านี้ ไม่เพียงเป็นพิษกับคนสูบเท่านั้นแต่ยังเป็นพิษกับคนรอบข้างอีกและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ส่วนผลของบุหรี่ไฟฟ้าในผู้ป่วยมะเร็งมี ดังนี้

  • ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการดมยาสลบผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง
  • ลดประสิทธิภาพจากการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง
  • ลดประสิทธิภาพของยาเคมีบาบัด
  • เพิ่มผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัด
  • ทำให้เซลล์มะเร็งและโรคลุกลามมากขึ้น
  • เพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งปฐมภูมิแห่งที่สอง ยกตัวอย่าง เช่น ในผู้ป่วยรายเดียวกันตอนแรกเป็นมะเร็งปอดเป็นมะเร็งปฐมภูมิแห่งแรก แล้วต่อมาเป็นมะเร็งหลอดอาหารปฐมภูมิแห่งที่สอง
  • ลดประสิทธิภาพของยาที่ใช้บรรเทาอาการที่เกิดจากโรคมะเร็ง เช่น ยาแก้อาเจียน

          สุดท้ายจำเป็นต้องกล่าวถึง บุหรี่ไฟฟ้าแบบที่ใช้การเผาไหม้ด้วยความร้อนต่ำ (HNB products หรือ IQOS) ที่มักจะถูกกล่าวถึงว่ามีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ปกติ อย่างไรก็ตามพบว่าบุหรี่ไฟฟ้าชนิดนี้มีปริมาณสารคาร์บอนิล (Carbonyls) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอยู่ในระดับที่สูงมากและสารเคมีที่ได้จาก IQOS ยังทำลายเยื่อบุหลอดลม กล้ามเนื้อหลอดลม เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังคงมีการอักเสบของทางเดินหายใจ จนเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

          ไม่นานมานี้ มีผู้ป่วยปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette, or Vaping products use associated lung injury; EVALI) รายแรกของประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตได้ไม่น้อย โรคนี้พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย และมักจะพบในกลุ่มที่อายุน้อย อาจจะเกิดได้ภายใน 1-3 เดือนหลังสูบ และพบมากจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า สูบน้ำมันกัญชา อาการที่พบ ได้แก่ เหนื่อย ไข้ ไอแห้ง อาเจียน แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น

           ผู้ป่วยโรคนี้ อาการค่อนข้างหนัก มีการรายงานว่าจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) มากกว่าครึ่งของจำนวนผู้ป่วย ปัจจุบันยังไม่พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถใช้ในการเลิกบุหรี่ควันได้มากกว่าการใช้นิโคตินทดแทนแบบอื่น เช่น หมากฝรั่ง หรือแผ่นแปะ

          หากมีความต้องการที่จะเลิกบุหรี่อย่างถูกต้องจึงแนะนำให้หยุดทันที และไปพบแพทย์เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้รับบริการเลิกบุหรี่อย่างปลอดภัย

TH-11488

 

กรุณาให้คะแนน