การประเมินระยะของโรคมะเร็งปอด 4.75/5 (16)

โรคมะเร็งปอด มีแนวทางในการตรวจวินิจฉัยและการประเมินระยะของโรค เพื่อกำหนดแนวทางในการรักษาตามระยะของอาการ ดังนี้

การประเมินระยะของโรคมะเร็งปอด

เรียบเรียงโดย นพ.ภานุณัฏฐ์ ม่วงน้อย
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

1. การประเมินก้อนมะเร็งตั้งต้น (Primary tumor, T stage)

เพื่อบอกขนาดและตําแหน่งของก้อนมะเร็งและยังช่วยบอกการขยายตัวของก้อน, การกดเบียดหรือแพร่เข้าสู่อวัยวะข้างเคียง รวมถึงช่วยใการประเมินช่องเยื่อหุ้มปอดและช่องเยื่อหุ้มหัวใจอีกด้วย การประเมิน T stage สามารถทำได้โดย

การประเมินก้อนมะเร็งปอด

ภาพเอกซเรย์รังสีทรวงอก (Chest x-ray) ทำให้ทราบถึงขนาดของก้อนมะเร็งได้ โดยการประเมินขนาด ให้วัดด้านที่กว้างที่สุดของก้อน และยังใช้บอกตําแหน่งของก้อนว่าอยู่ส่วนกลางปอด (central) ซึ่งมีโอกาสอุดหลอดลมใหญ่ได้มากกว่าหรือ อยู่ส่วนรอบนอกของปอด (Periphery) ซึ่งมีโอกาสกระจายเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดได้มากกว่า

Computed Tomography of chest (CT Chest) ช่วยให้รายละเอียดได้ดีกว่าการดูด้วยภาพเอกซเรย์รังสีทรวงอก รวมไปถึงให้รายละเอียดเกี่ยวกับอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองในบริเวณขั้วปอดและผนังทรวงอก โดยเฉพาะข้อมูลของการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ นอกช่องอก เช่น ในช่องท้องรวมถึงเนื้อสมองด้วย

Computed Tomography of chest (CT Chest)
ภาพประกอบ Computed Tomography of chest (CT Chest)

Magnetic Resonance Imaging (MRI) ให้รายละเอียดที่ดีกว่า CT ในการดูการกระจายของโรคเข้าผนังทรวงอก โดยมีความไว (Sensitivity) 90% และความจําเพาะ (Specificity) 86% โดย MRI ใช้ประโยชน์ในการบอกความสัมพันธ์กับอวัยวะข้างเคียงได้ จะให้ภาพที่ชัดเจนแต่อาจได้ประโยชน์ไม่มากนักในการดูพยาธิสภาพของเนื้อปอดเมื่อเทียบกับ CT

Positron-Emission Tomography (PET) การใช้ PET scan โดยใช้สาร [18F] fluorodeoxyglucose สามารถหาเซลล์มะเร็ง ได้จากการที่เซลล์มะเร็งใช้สารนี้เผาผลาญอนุภาค positron ที่ออกมาจากสารนี้ ทำให้สามารถตรวจพบโดยเครื่อง PET scan แม้ว่าการใช้ PET จะเป็น ที่ยอมรับในการบอกระยะของโรค แต่ไม่มีประโยชน์ในการกำหนด T stage

การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy)
ภาพประกอบ การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy)

การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) สามารถใช้ทั้งเพื่อการวินิจฉัยและประเมินการกระจายของมะเร็งในหลอดลมได้ โดยการส่องกล้องหลอดลมจะบอกถึงตําแหน่งของก้อนมะเร็งในหลอดลม และยังสามารถเก็บชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อส่งตรวจยืนยันการวินิจฉัยและบอกชนิดของมะเร็งด้วย

2. การประเมินการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง (Nodes, N stage)

เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินว่า จะสามารถให้การรักษาโดยการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งปอดได้หรือไม่ รวมถึงใช้ในการพยากรณ์โรคด้วย โดยอาจดูการกระจายของต่อมน้ำเหลืองได้จากภาพเอกซเรย์รังสีทรวงอก ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก เมื่อพบว่ามีการกระจายของต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดโตเท่ากับ หรือมากกว่า 1 เซนติเมตร โดยพบว่ามีโอกาสที่จะพบการกระจายของมะเร็งถึง 50% แม้ว่าขนาดของต่อมน้ำเหลืองจะปกติ ก็พบว่ามีการกระจายไปแล้วถึง 10% หรือจากการตรวจ PET scan พบว่ามีการ uptake ของสารที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง

รประเมินระยะของโรคมะเร็งปอด

การที่จะบอกว่าผู้ป่วยมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วหรือไม่นั้น จำเป็นที่จะต้องได้ตัวอย่างชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลืองที่สงสัยมาตรวจทางพยาธิวิทยา ในปัจจุบันมีวิธีการเก็บตัวอย่างต่อมน้ำเหลืองมาตรวจหาการกระจายของเซลล์มะเร็งหลายวิธี ได้แก่

การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy)  ทำได้โดยการเจาะผ่านหลอดลมเข้าไปในต่อมน้ำเหลือง(Transbronchial needle aspiration biopsy : TBNA หรือ Transtracheal needle aspiration biopsy : TTNA) และนำชิ้นเนื้อมาตรวจหาเซลล์มะเร็งได้ขณะทำการส่องกล้องหลอดลม เป็นวิธีที่ประหยัดและค่อนข้างปลอดภัย จึงเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจมากที่สุดวิธีหนึ่ง  

ในปัจจุบันมีการใช้กล้องส่องหลอดลมที่มีอัลตราซาวน์ที่ปลายของกล้องทำให้สามารถเห็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่นอกหลอดลมได้ชัดเจนขึ้นและใช้เป็นตัวกำกับให้การเจาะได้อย่างแม่นยำขึ้น และยังสามารถตรวจต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตรได้ เรียกการตรวจนี้ว่า Endobronchial ultrasound guided transbronchial needle aspiration (EBUS-TBNA) แต่การตรวจนี้อาจมีข้อจำกัดในเรื่องของเครื่องมือและบุคลากรเนื่องจากต้องใช้อายุรแพทย์โรคปอดที่มีความเชี่ยวชาญ

การส่องกล้องช่องกลางทรวงอก (Mediastinoscopy) ยังคงใช้เป็นวิธีมาตราฐาน (gold standard) ของการวินิจฉัยการกระจายของมะเร็งมายังต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอก โดยมีข้อบ่งชี้ในกรณีที่มีต่อมน้ำเหลืองโตแต่ไม่สามารถให้การวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่นได้ การผ่าตัดโดยตรงเข้าไปในปอดโดยมุ่งหวังว่าเป็นการวินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองและสามารถตัดต่อมน้ำเหลืองนั้นพร้อมก้อนมะเร็งออกได้หมด

Computed Tomography of chest (CT Chest) ช่วยให้รายละเอียดเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองในบริเวณขั้วปอดและผนังทรวงอก โดยเฉพาะข้อมูลของการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ นอกช่องอก เช่น ในช่องท้องรวมถึงเนื้อสมองด้วย

3. การประเมินการกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ (Metastasis, M stage)

มักประเมินจากการซักประวัติอาการและการตรวจ ร่างกายเป็นหลักโดยให้ความสนใจอวัยวะหรือบริเวณที่โรคมะเร็งปอดชอบกระจายไป ได้แก่

โรคมะเร็งปอด

ช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural cavity) ทำให้เกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ซึ่งต้องหาว่ามีการกระจายของมะเร็งเข้าไปจริงหรือไม่ เพราะการที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดอาจเกิดจากกลไกอื่นได้ เช่น การอุดตันทางเดินน้ำเหลือง หรือการที่มีการแฟบของปอดจากการอุดขั้วของกลีบปอดได้เช่นกัน จึงมีความจำเป็นต้องทำการเจาะน้ำในเยื่อหุ้มปอดมาตรวจหาเซลล์มะเร็ง เพื่อประเมินการกระจายของโรค และยังเป็นการรักษาอาการเหนื่อยที่เกิดจากน้ำในเยื่อหุ้มปอดด้วย หากนำน้ำในเยื่อหุ้มปอดมาตรวจแล้วไม่พบเซลล์มะเร็ง อาจใช้วิธีการส่องกล้องไปในเยื่อหุ้มปอดแล้วตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ (Pleuroscopy)

ตับ การตรวจร่างกายและการดูค่าชีวเคมีของตับก็เพียงพอในการคัดกรองเพื่อประเมินการกระจายมายังตับ

สมอง อาการของการเพิ่มความดันในสมอง การเกิดอัมพาตหรืออาการทางระบบประสาทอื่นจะทำให้ต้องนึกถึงการกระจายของมะเร็งมายังสมองเมื่อสงสัยต้องทำการสืบค้นต่อ

ต่อมหมวกไต เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถดูได้จากอาการหรืออาการแสดงต้องใช้การดูจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวน์ซึ่งในกรณีที่พบก้อนต้องวินิจฉัยแยกโรคจากก้อนที่ต่อมหมวกไตที่ไม่ใชมะเร็ง (Benign adenoma)

TH-8498

กรุณาให้คะแนน