สมุนไพรกับการรักษามะเร็งปอด 5/5 (3)

การรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัด การฉายแสง ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้าหรือภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ

เรียบเรียงโดย พญ.จิรวดี สถิตย์เรืองศักดิ์

         

 

          อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันดังกล่าวนั้นมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย ได้แก่ อ่อนเพลีย ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน ผื่นผิวหนังอักเสบ ท้องเสีย ปลายประสาทชา เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตามเพื่อเฝ้าระวังถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตลอดการรักษา

          ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรในการรักษาและบรรเทาอาการโรคต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการใช้สมุนไพรปรับสมดุลให้ร่างกายตามแนวคิดของธรรมชาติบำบัด เพื่อบำบัดและบรรเทาอาการของโรคจากภาวะต่าง ๆ มีการศึกษาถึงคุณสมบัติต่อต้านมะเร็งของพืชสมุนไพรหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร ทุเรียนเทศ กระเทียม ใบบัวบก เป็นต้น

ฟ้าทะลายโจร

          โดยสารที่มีในพืชสมุนไพรเหล่านี้นอกจากจะมีคุณสมบัติกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบแล้ว ยังอาจจะมีผลช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งอีกด้วย อย่างไรก็ตามการศึกษาประสิทธิภาพของพืชสมุนไพรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาชนิดของสารที่มีอยู่ในพืชสมุนไพรต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง จึงไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการใช้สมุนไพรสามารถรักษามะเร็งในมนุษย์ได้ นอกจากนี้การใช้พืชสมุนไพรจำเป็นต้องระวังผลข้างเคียงต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ อาการแพ้ คลื่นไส้อาเจียน เป็นพิษต่อตับหรือไตจากส่วนประกอบของสารสกัดสมุนไพร อีกทั้งยังอาจจะมีผลเสียต่อการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันอีกด้วย

          แม้ว่าสมุนไพรไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษามะเร็งปอดโดยตรง แต่ก็มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของการรักษามะเร็งได้ เช่น

 

  • น้ำขิง ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากยาเคมีบำบัด
  • การอมกลั้วปากด้วยน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ หรือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ช่วยลดอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายแสงหรือยาเคมีบำบัด
  • การดื่มน้ำสมุนไพร น้ำมะนาว หรือขมิ้น ช่วยบรรเทาอาการรับรส หรือการรับกลิ่นอาหารเปลี่ยนจากยาเคมีบำบัด
  • น้ำมะตูม ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย
  • บอระเพ็ดหรือสะเดา ช่วยเพิ่มความรู้สึกอยากอาหารในผู้ป่วยที่มีอาการเบื่ออาหารได้

         

          จะเห็นได้ว่าพืชสมุนไพรสามารถช่วยลดอาการหรือบรรเทาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งได้ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรที่ได้รับขึ้นทะเบียนในการรักษามะเร็ง ดังนั้นควรรับประทานสมุนไพรให้เป็นอาหารมากกว่าที่จะรับประทานเป็นยาเดี่ยว ๆ เพื่อการรักษาโรค นอกจากนี้การใช้สมุนไพรที่ผิดวิธีหรือการรับประทานเป็นปริมาณมากอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น เป็นพิษต่อตับหรือไต อีกทั้งยังอาจรบกวนการออกฤทธิ์ของยารักษามะเร็งแผนปัจจุบัน ทำให้ผลการรักษามะเร็งแย่ลงอีกด้วย ดังนั้นการใช้พืชสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ส่งผลให้การรักษามีประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยมะเร็ง

TH-11487

 

 

กรุณาให้คะแนน