แนวทางการรักษาแบบส่งผลทั่วร่างกาย 4.5/5 (10)

แนวทางการรักษาแบบส่งผลทั่วร่างกาย

ปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดด้วยยาต้านมะเร็ง ได้มีความก้าวหน้าในการรักษาเป็นอย่างมาก ทำให้การรักษามะเร็งปอด มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งที่พบในผู้ป่วยแต่ละราย และมีผลข้างเคียงจากการรักษาลดน้อยลง ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

การรักษามะเร็งปอดด้วยยาต้านมะเร็ง
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
ยาเคมีบำบัด คือ การรักษาด้วยยาซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านทำลายเซลล์มะเร็ง ได้ผลครอบคลุมทั้งระบบ นับเป็นการรักษาหลักของการรักษาทางยาที่ใช้มากที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งปัจจุบัน  โดยอาจใช้เป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรืออาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา ที่เรียกว่า Chemoradiation อาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยามุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้ โดยขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากยาเคมีบำบัดไม่ได้ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตจำเพาะเจาะจงที่เซลล์มะเร็งเท่านั้น แต่ก็ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติทั่วไป และการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ เบื่ออาหาร ท้องเสีย ผมร่วง และเม็ดเลือดต่ำกว่าปกติได้ ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของยา ความแข็งแรงของร่างกาย และความพร้อมด้านจิตใจของผู้ป่วย

แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีมากขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลงกว่ายาเคมีบำบัดกลุ่มเดิม รวมทั้งยังมียาที่ช่วยป้องกันและรักษาอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว ทำให้การใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาได้ผลดีกว่าเดิม และมีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้

ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งปอดมีด้วยกันหลายชนิด มีทั้งแบบให้ยาหลายตัวร่วมกันหรือแบบให้ยาตัวเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค อายุ และสภาพความพร้อมของผู้ป่วย โดยจะเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำทางสายน้ำเกลือ การให้ยาเคมีบำบัดนั้น จะให้การรักษาเป็นรอบ โดยแต่ละรอบของการรักษา มักจะห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ 

ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)
คือ การรักษาด้วยยาเช่นกัน แต่ยาออกฤทธิ์ยับยั้งขัดขวางการเจริญเติบโตเฉพาะเซลล์มะเร็ง เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด โดยยาจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและให้ส่งผลต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด ผลข้างเคียงจึงรุนแรงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จะใช้ได้ผลดีเฉพาะผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่จำเพาะต่อยาเท่านั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจการกลายพันธุ์ในชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยก่อนการใช้ยากลุ่มนี้

ภาพประกอบ ยามุ่งเป้า

ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน คือ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ทำการกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย เป็นการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถกำจัด หรือควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นยากลุ่มใหม่ที่ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ โดยไม่ได้ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะมีการสร้างโปรตีนที่ชื่อว่า PDL1 หรือย่อมาจาก Programmed death-ligand 1 มาป้องกันตัวเองจากระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามปกติ ยาในกลุ่มนี้ หรือมีชื่อว่า Anti-PD1 และ Anti-PDL1 จะไปยับยั้งกระบวนการป้องกันตัวเองดังกล่าวของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ โดยจะเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำทางสายน้ำเกลือเหมือนยาเคมีบำบัด

TH-8509

กรุณาให้คะแนน