อาการไม่พึงประสงค์จากยาเคมีบำบัด ขึ้นกับสูตรและขนาดของยาเคมีบำบัด รวมทั้งสุขภาพและโรคประจำตัวของคนไข้แต่ละราย ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มากน้อยแตกต่างกัน ไม่ใช่คนไข้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดทุกคน จะต้องเกิดผลข้างเคียงเสมอไป และไม่ได้เกิดกับยาเคมีบำบัดทุกชนิด
เรียบเรียงโดย พญ. ปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์
ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่พบบ่อย ได้แก่
คลื่นไส้ อาเจียน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับยา และอาจเกิดได้นานถึง 3-7 วัน ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะมีการใช้ยาป้องกันอาการอาเจียนก่อนการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ ซึ่งสามารถให้การป้องกันอาการอาเจียนได้ในผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียนก่อนและหลังได้รับยาเคมีบำบัด
- รับประทานอาหารอ่อนและย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป ไข่ตุ๋น โยเกิร์ต น้ำผลไม้ กล้วย ขนมปัง ก่อนได้รับยาเคมีบำบัด ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป หรือไม่ให้ท้องว่าง เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ง่าย เช่น อาหารประเภททอด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารเผ็ดจัด
- รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งเช่น 5-6 มื้อต่อวัน
- รับประทานอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด เพื่อง่ายต่อการดูดซึม
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ค่อย ๆ จิบน้ำครั้งละน้อย ๆ ตลอดวัน แทนที่จะดื่มเป็นแก้วครั้งละมาก ๆ
- ดูแลตนเองไม่ให้ท้องผูก เพราะอาการท้องผูกทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
ปรึกษาแพทย์ หากอาการคลื่นไส้อาเจียนไม่ดีขึ้น
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เป็นได้ในช่วงสัปดาห์แรกของการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลทำให้การรับรสอาหารเปลี่ยนแปลง ความอยากรับประทานอาหารลดลง รวมทั้งตัวโรคมะเร็งเอง ก็ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียพลังงาน การรับประทานอาหารให้มีพลังงานที่เพียงพอและครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ จะช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ จากการถูกทำลายโดยยาเคมีบำบัด
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- พักผ่อนให้มากขึ้น วันละประมาณ 6-8 ชั่วโมง และควรพักผ่อนช่วงเวลากลางวันประมาณ 1-2 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ โดยทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในช่วงเย็น เช่น กาแฟ ชา เป็นต้น เนื่องจากอาจทำให้นอนไม่หลับได้
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือออกกำลังที่หักโหมจนเกินไป อาจต้องอาศัยผู้อื่นในการช่วยทำกิจกรรมประจำวันบางอย่าง เช่น การซักผ้า การทำอาหาร การทำความสะอาดบ้าน
- เดินระยะทางสั้น ๆ หรือออกกำลังกายเบา ๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ โดยไม่หนักเกินไป
- ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม เมื่อมีอาการเปลี่ยนอิริยาบถ ควรทำช้า ๆ
- หากรู้สึกเหนื่อย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถยนต์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
เยื่อบุทางเดินอาหารอักเสบ เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการปากแห้ง เจ็บปาก มีแผลในปาก กลืนอาหารแล้วเจ็บ รับประทานอาหารได้ลดลง อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังได้รับยา 5-7 วัน อาการนี้จะเป็นอยู่ชั่วคราว และเมื่อหยุดยาเคมีบำบัด และได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาการจะดีขึ้น
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- ตรวจสุขภาพช่องปากและฟันก่อนให้ยาเคมีบำบัด
- แปรงฟันเบา ๆ ด้วยขนแปรงที่อ่อนนุ่มมีขนาดเล็ก ในกรณีที่มีเลือดออกง่าย ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดพันปลายนิ้ว ทำความสะอาดแทนแปรงสีฟัน หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือแทนการแปรงฟัน และไม่ควรใช้ไหมขัดฟัน
- ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุช่องปาก เสี่ยงต่อการเกิดแผลได้ง่าย
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมาก
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะแข็ง หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และอาหารร้อนจัด
- รับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม ซุป ไข่ตุ๋น โยเกิร์ต เยลลี สังขยา ไอศกรีม
- กลั้วปากและลำคอโดยใช้เกลือ ½ ช้อนชา ผสมน้ำอุ่น 1 แก้ว และควรอมไว้ประมาณ 20 วินาทีก่อนบ้วนทิ้ง 3-4 ครั้งต่อวัน เพื่อให้สามารถทำความสะอาดในช่องปาก และขจัดเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หรือจิบน้ำบ่อย ๆ ใช้วาสลีนหรือลิปสติกมัน ทาริมฝีปากให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการใส่ฟันปลอมที่ต้องใช้ตะขอเกี่ยวเหงือก ถ้าบริเวณที่สัมผัสกับฟันปลอมเป็นแผลหรือ
เจ็บปวด หลีกเลี่ยงการใส่ฟันปลอมชั่วคราว ควรล้างและทำความสะอาดฟันปลอมทุกวัน และควรถอดฟันปลอมออกไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงใน 1 วัน เพื่อให้เหงือกและเพดานไม่ถูกกดตลอดเวลา ถ้าฟันปลอมหลวม หรือแน่นเกินไป ควรปรึกษาทันตแพทย์
- ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดแสบร้อนในช่องปาก มีแผลในช่องปาก ไม่สามารถรับประทานอาหารได้
ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวและบ่อยครั้ง เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ทำให้เกิดเยื่อบุทางเดินอาหารของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่อักเสบ หรืออาจเกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้มากขึ้น ทั้งจากการติดเชื้อ หรือจากการใช้ยาระบายรักษาอาการท้องผูก
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งเช่น 5-6 มื้อต่อวัน
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีเกลือแร่สูง เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ กล้วย ส้ม เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการท้องเสีย
- รับประทานอาหารอ่อนและย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป ก๋วยเตี๋ยว กล้วย ขนมปัง
- หลีกเลี่ยงนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของช็อกโกแลต
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากใยสูง และอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส หรืออาการมวนท้อง เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ถั่ว ธัญพืช หัวหอม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด สุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารค้างคืน
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
- ปรึกษาแพทย์ทันที หากท่านถ่ายเหลวนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย
ท้องผูก อาการท้องผูกในผู้ป่วยมะเร็ง มักเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยาแก้ปวด การได้รับยาเคมีบำบัด ยาป้องกันอาการอาเจียน รับประทานอาหารและน้ำน้อยเกินไป หรือมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หรือน้ำซุป น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- ดื่มน้ำอุ่นในตอนเช้า เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่ว หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- ออกกำลังกายให้เพียงพอ และสามารถทำได้โดยไม่เหนื่อยเกินไป เช่น การเดินเพื่อสุขภาพ เพื่อช่วยให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น
- ถ้าแน่นท้องจากมีลมในกระเพาะอาหารมาก ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น น้ำอัดลม ถั่ว หัวหอม
- ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ควรปรึกษาแพทย์
เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำและติดเชื้อง่ายขึ้น เกิดจากยาเคมีบำบัดมีผลต่อการทำงานของไขกระดูก ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่ลดลง (เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยเฉพาะ 10-14 วันหลังได้ยาเคมีบำบัด ปัจจุบันมียาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มาก
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำแล้ว
- ดูแลสุขภาพอนามัยในช่องปาก ไม่ให้เกิดแผลในปาก
- หลีกเลี่ยงการพบปะคนที่เป็นหวัด มีไข้ หรือติดเชื้อ และไปในสถานที่แออัด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ ไม่งดเนื้อสัตว์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด สุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารค้างคืน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่ทานทั้งเปลือก เช่น องุ่น แอปเปิล ฝรั่ง และต้องล้างให้สะอาด
- ตัดเล็บให้สั้น และไม่ควรเกา เพราะอาจทำให้เกิดแผลถลอก ซึ่งจะเป็นแหล่งของการติดเชื้อได้ง่าย
- ปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการบ่งว่าอาจมีการติดเชื้อ เช่น มีไข้ (มากกว่า 38 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ หรือปัสสาวะแสบขัด
ภาวะเลือดออกง่าย จากเกล็ดเลือดต่ำ โดยเฉพาะบริเวณใต้ผิวหนัง ในช่องปาก เหงือก และเยื่อบุจมูก อาจจะเกิดขึ้นภายหลังได้รับยาประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจะค่อยกลับสู่ปกติในสัปดาห์ที่ 3-4 หลังได้รับยาเคมีบำบัด
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- แปรงฟันเบา ๆ ด้วยขนแปรงที่อ่อนนุ่มมีขนาดเล็ก ในกรณีที่มีเลือดออกง่าย ให้ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดพันปลายนิ้ว ทำความสะอาดแทนแปรงสีฟัน หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลือแทนการแปรงฟัน และไม่ควรใช้ไหมขัด
- การใช้ของมีคม ต้องมีความระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษอย่าให้เกิดบาดแผล โดยเฉพาะผู้ชายที่ต้องโกนหนวด ควรใช้เครื่องโกนหนวดไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น
- จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ระวังอุบัติเหตุ และการกระทบกระแทก
- สวมใส่รองเท้าตลอดเวลาทั้งในบ้าน และออกนอกบ้าน
- ถ้ามีแผลหรือสะเก็ด ห้ามแกะแผลหรือดึงสะเก็ด เพราะอาจจะทำให้เลือดออกได้
- หากมีเลือดออกให้ใช้ผ้าสะอาด กดบริเวณที่มีเลือดออกจนกว่าเลือดจะหยุด
- ปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการปวดศีรษะทันทีอย่างรุนแรง หรือแขนขาอ่อนแรง เนื่องจากอาจเป็นเพราะมีเลือดออกในสมองได้ ถ่ายดำ ปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกง่ายผิดปกติ เป็นต้น
ผมร่วง โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับยาเคมีบำบัดครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยจะร่วงมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด แต่อาการนี้จะเป็นชั่วคราวในช่วงที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดเท่านั้น และผมจะงอกใหม่หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดครั้งสุดท้ายประมาณ 3-4 เดือน
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- จัดเตรียมหาวิกผมไว้ตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่เกิดผมร่วง เพื่อให้วิกผมมีลักษณะคล้ายกับสีผมเดิมของคุณ และในบางคนอาจจะได้เปลี่ยนแบบผมทรงใหม่ได้ดี ซึ่งจะหาซื้อได้ตามร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป
- ตัดผมสั้นเพื่อง่ายต่อการดูแล และสะดวกเมื่อจำเป็นต้องใส่วิกผม หรือโกนศีรษะ
- ใช้แชมพูชนิดอ่อน
- ใช้หวีที่มีความอ่อนนุ่ม และควรหวีเบา ๆ
- ควรสวมหมวก หรือใช้ผ้าคลุมหนังศีรษะ เมื่อออกไปข้างนอกบ้าน
- หลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด ควรรักษาหนังศีรษะให้อบอุ่น
- หากต้องไดร์ผม ควรเปิดความร้อนที่น้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงการทำสีผม ย้อมผม ยืดผม ม้วนผมและดัดผม
TH-8501