ออกกำลังกายป้องกันภาวะข้อไหล่ติดสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัด 5/5 (1)

ผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งปอดเมื่อมีอาการปวดแผลผ่าตัด ผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงการยกแขนและขยับแขนได้น้อย ซึ่งหากผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยกแขนเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่ลดลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนข้อไหล่ติดได้

เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์

นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ข้อไหล่ติดเป็นภาวะที่ข้อต่อบริเวณหัวไหล่มีมุมการเคลื่อนไหวที่น้อยกว่าปกติ ร่วมกับมีอาการปวดในขณะขยับข้อไหล่ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะข้อไหล่ติดมี ดังนี้

1) ผู้ที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวไหล่เป็นเวลานาน ได้แก่ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือผ่าตัดที่ไหล่ และผู้ป่วยหลังผ่าตัด

2) ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

3) ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด โรคหัวใจ ไทรอยด์ และมะเร็งเต้านม

 

ท่าทางการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนไหล่ติด

ท่าที่ 1 ยกแขนขึ้นลง

ยกแขนขึ้นตรงแนบศีรษะ ฝ่ามือหมุนนิ้วโป้งชี้ไปด้านหลังเพื่อป้องกันการบาดเจ็บข้อไหล่ จากนั้นลดแขนลงแนบลำตัว

รูปที่ 1 แสดงการยกแขนขึ้นลง

ท่าที่ 2 กางแขนออกและหุบเข้า

กางแขนออกด้านข้างของลำตัวจนแนบใบหูทิศทางระนาบเดียวกับลำตัว ฝ่ามือหมุนนิ้วโป้งชี้ไปด้านหลังเพื่อป้องกันการบาดเจ็บข้อไหล่ จากนั้นหุบแขนลงแนบลำตัว

รูปที่ 2 แสดงการกางแขนออกและหุบเข้า

ท่าที่ 3 หุบแขนขวางลำตัวและกางออก

ท่าเริ่มต้น กางแขนออกตั้งฉากกับลำตัว แล้ววาดแขนอ้อมข้ามลำตัวมาแตะไหล่อีกข้าง จากนั้นวาดแขนออกไปยังท่าตั้งต้น

รูปที่ 3 แสดงการหุบแขนขวางลำตัวและกางออก

ท่าที่ 4 หมุนแขนข้อไหล่เข้าและออก

ท่าเริ่มต้น หนีบแขนไว้ข้างลำตัวและงอข้อศอกขึ้นตั้งฉาก จากนั้นหมุนแขนเข้าด้านในแนบลำตัว และหมุนแขนออกนอกในขณะที่ยังคงหนีบแขนไว้ข้างลำตัว

รูปที่ 4 แสดงการหมุนแขน

การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมุมในการเคลื่อนไหวของข้อไหล่

ท่าที่ 1 ไต่กำแพงด้านหน้า

หันหน้าเข้าหากำแพง มือไต่กำแพงในมุมที่สูงขึ้นอย่างช้าๆ และก้าวเท้าให้ลำตัวชิดกำแพงมากขึ้น จนรู้สึกตึงบริเวณไหล่โดยไม่มีอาการเจ็บหรือปวด ค้างไว้นับ 1-15 แล้วจึงค่อยๆไต่มือลงมา

รูปที่ 5 แสดงการไต่กำแพงด้านหน้า

ท่าที่ 2 ไต่กำแพงด้านข้าง

หันข้างลำตัวเข้าหากำแพง กางแขนไต่กำแพงในมุมที่สูงขึ้นอย่างช้าๆ และก้าวเท้าไปด้านข้างให้ลำตัวชิดกำแพงมากขึ้นจนรู้สึกตึงบริเวณไหล่โดยไม่มีอาการเจ็บหรือปวด ค้างไว้นับ 1-15 แล้วจึงค่อยๆไต่มือลงมา

รูปที่ 6 แสดงการไต่กำแพงด้านข้าง

TH-9897

กรุณาให้คะแนน