การส่องกล้องหลอดลม (Flexible Bronchoscopy) 4.7/5 (10)

การส่องกล้องหลอดลมปอด (flexible bronchoscopy) คือ การส่องกล้องขนาดเล็กเข้าไปในทางเดินหายใจซึ่งได้แก่ หลอดลมใหญ่และหลอดลมขนาดเล็ก ผ่านทางจมูกหรือช่องปากเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคหรือรักษาโรคทางระบบการหายใจ

เรียบเรียงโดย รศ.นพ. ศุภฤกษ์ ดิษยบุตร

สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ข้อบ่งชี้ของ การส่องกล้องหลอดลม

ข้อบ่งชี้ของการส่องกล้องหลอดลม

  1. เพื่อการวินิจฉัยโรค ได้แก่
  • เพื่อการวินิจฉัยโรคของระบบการหายใจ เช่น
    • การติดเชื้อในปอด เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย วัณโรค ไวรัสบางชนิด และเชื้อรา
    • โรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปอด และมะเร็งแพร่กระจาย
  • เพื่อประเมินระยะโรคมะเร็งปอด ได้แก่ การส่องกล้องร่วมกับการใช้อัลตราซาวด์หลอดลม (endobronchial ultrasound) เพื่อเจาะตรวจต่อมน้ำเหลืองของปอด ซึ่งจะมีประโยชน์ช่วยในการตัดสินใจการรักษาต่อไป
  1. เพื่อการรักษา เช่น ดูดเสมหะที่อุดตันหลอดลม และนำสิ่งแปลกปลอมที่ถูกสูดสำลักลงหลอดลมออก เป็นต้น

ข้อห้ามในการส่องกล้องหลอดลม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์และควรทำด้วยความระมัดระวัง

  1. ผู้ป่วยไม่ยินยอมในการทำหัตถการ
  2. มีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด (hypoxemia) อย่างรุนแรงที่ไม่สามารถแก้ไขได้
  3. สัญญาณชีพไม่คงที่
  4. มีภาวะเลือดออกง่ายผิดปกติ
  5. มีภาวะความดันของเส้นเลือดแดงในปอดสูงอย่างรุนแรง (pulmonary hypertension)
  6. มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง (increased intracranial pressure)
  7. แพทย์ไม่มีความชำนาญหรือเครื่องมือไม่พร้อม

 

การเตรียมตัวและขั้นตอนการส่องกล้องหลอดลม

  1. แพทย์จำเป็นต้องอธิบายข้อบ่งชี้ ขั้นตอนการทำหัตถการ การเตรียมตัว และภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงต้องมีการลงนามในใบยินยอมการทำหัตถการ (informed consent)
  2. ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ได้แก่
  • ผู้ป่วยจำเป็นต้องงดน้ำและงดอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการทำหัตถการ
  • งดยาบางชนิดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด เช่น clopidrogrel , aspirin (ยา aspirin นี้อาจไม่จำเป็นต้องหยุด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์) และยาละลายลิ่มเลือด เช่น warfarin เป็นต้น หากผู้ป่วยมีการกินยาประเภทเหล่านี้ หรือไม่แน่ใจจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ก่อนเสมอ
  • สำหรับยาลดความดันโลหิตไม่จำเป็นต้องหยุดในวันที่มาทำการส่องกล้อง โดยสามารถกินได้ปกติและดื่มน้ำเปล่าปริมาณน้อย ๆ ตามได้ โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
  • วันส่องกล้องหลอดลม จำเป็นต้องพาญาติมาด้วยอย่างน้อย 1 ท่าน เนื่องจากท่านอาจต้องได้รับยาระงับปวดหรือยาระงับความรู้สึก ซึ่งภายหลังการทำหัตถการอาจมีอาการมึนงง ซึ่งไม่ควรเดินทางกลับบ้านคนเดียว
  • หากมีประวัติแพ้ยาใด ๆ เช่น ยาชา ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเสมอ
    1. วันส่องกล้องหลอดลม
  • ท่านจะได้รับการพ่นยาชาเข้าทางจมูกและปาก ซึ่งจะทำให้รู้สึกแสบในโพรงจมูกและกลืนลำบากเล็กน้อย
  • การส่องกล้องจะทำในท่านอนราบ ให้ออกซิเจนตลอดเวลาทางจมูก และมีการวัดระดับออกซิเจนในเลือดและความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอระหว่างการทำหัตถการ
  • ส่วนใหญ่จะมีการให้ยาระงับปวดและยานอนหลับทางหลอดเลือดดำในขณะทำการส่องกล้องซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
  • แพทย์จะใส่กล้องเข้าทางจมูกข้างหนึ่งหรือทางปาก เข้าไปยังหลอดลม และจะมีการให้ยาชาเป็นระยะ ซึ่งจะทำให้ท่านรู้สึกอึดอัดและสำลักน้ำในช่วงแรก
  • ภายหลังการทำหัตถการ ท่านจะได้รับการตรวจติดตามอาการประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถกลับบ้านได้

TH-8631

กรุณาให้คะแนน