การรักษามะเร็งปอดด้วยรังสีรักษา 4.78/5 (9)

การรักษามะเร็งปอดด้วยรังษีรักษา คือ การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสีซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยนิยมใช้รังสีเอ็กซ์ (X-ray) พลังงานสูงในการรักษา มีเป้าหมายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปการฉายรังสีเพื่อทางการรักษาโรคมะเร็งปอดจะให้รังสีวันละครั้งติดต่อกัน 5 วัน และพัก 2 วัน ซึ่งจำนวนครั้งที่จะฉายรังสีขึ้นกับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง นอกจากนี้ในโรคมะเร็งปอดบางชนิดจะมีการฉายรังสี 2 ครั้งต่อวัน โดยแต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

การรักษามะเร็งปอดด้วยรังสีรักษา ต้องเตรียมตัวอย่างไร

เรียบเรียงโดยผศ.พญ.จิราพร เสตกรณุกูล

เตรียมตัวอย่างไรเพื่อเตรียมพร้อมในการฉายรังสีมะเร็งปอด

  1. ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์รังสีรักษา เพื่อเข้ารับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวางแผนเกี่ยวกับการฉายรังสี
  2. ก่อนการฉายรังสี จะมีการจำลองการฉายรังสี (Radiation simulation) ก่อนด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์โดยเป็นการจำลองการรักษาเสมือนจริงกับการฉายแสงในห้องฉายรังสีแต่ละวัน ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยขึ้นกับเทคนิคการฉายรังสีในแต่ละประเภท ดังนี้

           2.1 การฉายรังสีเพื่อให้ครอบคลุมการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอกจากการหายใจ เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากก้อนเนื้องอกมะเร็งปอดจะมีการเคลื่อนไหวตามการหายใจของผู้ป่วย ดังนั้น การวางแผนการฉายรังสีจะต้องให้ครอบคลุมการเคลื่อนไหวทั้งหมดของก้อนเนื้องอก ปัจจุบันมีการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่สามารถดูการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอกจากการหายใจได้ (4 dimentional-computed tomography) เพื่อให้การหายใจของผู้ป่วยในขณะจำลองการฉายรังสีเหมือนกับการหายใจในห้องฉายรังสี ผู้ป่วยควรเตรียมตัวโดยการ ฝึกหายใจเข้า-ออกให้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ก่อนเริ่มทำการจำลองการฉายรังสี ซึ่งการฉายรังสีด้วยวิธีนี้ใช้เวลาในห้องฉายรังสีแต่ละครั้งประมาณ 10-20 นาที

          2.2 การฉายรังสีร่วมกับอุปกรณ์เสริมในการกดบริเวณช่องท้องหรือลิ้นปี่ของผู้ป่วย เพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอกจากการหายใจ การฉายรังสีวิธีนี้ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย ในการจำลองการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้ทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์โดยมีอุปกรณ์เสริมกดที่บริเวณช่องท้องหรือลิ้นปี่ ซึ่งการฉายรังสีด้วยวิธีนี้ใช้เวลาในห้องฉายรังสีแต่ละครั้งประมาณ 20-30 นาที

          2.3  การฉายรังสีโดยให้ผู้ป่วยกลั้นหายใจระหว่างฉายรังสี เพื่อลดการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอกในขณะฉายรังสี การฉายรังสีเทคนิคนี้ต้องอาศัยความร่วมของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำได้เฉพาะผู้ป่วยที่มีสมรรถภาพปอดอยู่ในเกณฑ์สามารถกลั้นหายใจได้อย่างน้อย 20 วินาทีต่อครั้ง และทำติดต่อกันได้อย่างน้อย 10 ครั้ง ในการจำลองการฉายรังสีผู้ป่วยจะต้องทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการกลั้นหายใจ ประมาณ 3-5 ครั้ง โดยบางสถาบันจะมีอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยได้ดูระดับการหายใจในระหว่างการกลั้นหายใจ ดังนั้นการฉายรังสีด้วยวิธีนี้จะใช้เวลาในห้องฉายรังสีนานประมาณ 45-60 นาที ต่อครั้ง

         2.4  การฉายรังสีโดยเครื่องฉายรังสี สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอกจากการหายใจ การฉายรังสีด้วยเทคนิคนี้ผู้ป่วยหายใจได้ตามปกติเหมือนแบบแรกแต่เครื่องฉายรังสีจะเคลื่อนที่ตามการหายใจของผู้ป่วยในระหว่างฉายรังสี ดังนั้นผู้ป่วยสามารถเตรียมตัวโดยการฝึกหายใจเข้า-ออกให้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ แต่ในระหว่างการจำลองการฉายรังสีผู้ป่วยจะต้องกลั้นหายใจเข้าและออกเพื่อทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ใช้เวลาเพียง 10-15 วินาที เท่ากับการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ตอนวินิจฉัยโรค การฉายรังสีด้วยเทคนิคนี้ในห้องฉายรังสีจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ขึ้นอยู่กับจังหวะการหายใจของผู้ป่วยว่าสม่ำเสมอหรือไม่

  1. หลังจากการจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์รังสีรักษาและนักฟิสิกส์การแพทย์ จะดำเนินการวางแผนการฉายรังสีให้แก่ผู้ป่วย รวมถึงการตรวจสอบและประกันคุณภาพแผนการฉายรังสี (Quality assurance) ก่อนที่จะเริ่มฉายรังสีให้แก่ผู้ป่วยจริง โดยขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีที่ถูกต้องแม่นยำ
  2. การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในระหว่างการฉายรังสีที่บริเวณปอด

          4.1  การฉายรังสีในแต่ละครั้งจะเหมือนการมาทำเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาล รังสีที่ฉายเป็นรังสีเอ็กซ์ ไม่ใช่รังสีความร้อน ดังนั้นจะไม่ทำให้รู้สึกร้อน ไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างการฉายรังสี

          4.2  ในระหว่างฉายรังสี แนะนำให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพตัวเอง ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่ เพื่อเตรียมพร้อมการรักษาให้ครบถ้วนสมบูรณ์

          4.3  ผลข้างเคียงระยะสั้นที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในระหว่างฉายรังสีบริเวณปอด ได้แก่ การอักเสบของเนื้อปอด (Radiation pneumonitis) ผู้ป่วยอาจมีอาการไอ หายใจสั้นลง เหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิม อาการจะทุเลาลงภายหลังฉายรังสี 3-6 เดือน การอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหาร (Radiation esophagitis) ผู้ป่วยอาจมีอาการกลืนอาหารติด กลืนเจ็บ บางรายอาจจะถึงขั้นกลืนลำบาก อาการจะทุเลาลงภายหลังการฉายรังสี 2-3 เดือน การอักเสบของผิวหนัง (Radiation dermatitis) ผิวหนังจะแดง คล้ำเป็นแผลง่ายในบริเวณที่ฉายรังสี อาการจะดีขึ้นภายหลังการฉายรังสี 2-3 เดือน

          4.4  ระหว่างการฉายรังสีผู้ป่วยจะได้รับการตรวจจากแพทย์รังสีรักษาทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามอาการข้างเคียงที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นให้แจ้งแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

 

TH-8629

กรุณาให้คะแนน