“การรักษาโรคมะเร็งที่มีในปัจจุบัน เกิดจากการทดสอบเป็นครั้งแรกในผู้ป่วยในรูปแบบของโครงการวิจัย และการรักษาด้วยยาชนิดใหม่เพื่อนำมาใช้ในการรักษามะเร็งในอนาคตก็กำลังศึกษาอยู่ในโครงการวิจัยในปัจจุบัน ดังนั้นคนไข้มะเร็งทุกราย ควรพิจารณาการเข้าร่วมในโครงการวิจัย เพื่อจะได้เข้าถึงการรักษารูปแบบใหม่ในโรคนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากการรักษามาตรฐานที่มีอยู่”
เรียบเรียงโดย พญ. ปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์
โครงการวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็งคืออะไร?
เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาการโรคมะเร็ง ทำให้เราทราบถึงกลไกในการเกิดโรคมะเร็งว่ามะเร็งแต่ละชนิดมีความผิดปกติของยีนที่แตกต่างกัน นำไปสู่การค้นพบและพัฒนาวิธีการรักษาที่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น และมีผลข้างเคียงจากการรักษาที่ลดลง
โครงการวิจัยในผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงเป็นการศึกษาถึงแนวทางการรักษาใหม่ เพื่อเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐานที่มีอยู่เดิม ที่จำเพาะกับชนิดของมะเร็ง หรือระยะของโรคมะเร็ง โดยอาจจะเป็นยาใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้น หรือการพัฒนารูปแบบการรักษาใหม่จากการรักษาที่มีอยู่เดิม อาทิเช่น นำการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน หรือนำการรักษาที่ประสบความสำเร็จในระยะที่โรคแพร่กระจาย มาใช้ในระยะเริ่มต้นเพื่อเพิ่มโอกาสหายขาดให้มีมากขึ้น เป็นต้น
ประโยชน์ของโครงการวิจัยในโรคมะเร็ง
- เป็นวิธีการหนึ่งในการยกระดับองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการรักษาในโรคมะเร็ง
- เป็นวิธีการที่ช่วยค้นพบการรักษาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษามาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
- เป็นวิธีการที่ช่วยให้คนไข้ได้เข้าถึงการรักษาใหม่ๆ ก่อนที่การรักษานั้นจะได้รับการอนุมัติให้เป็นการรักษามาตรฐานในอนาคต
- เป็นโอกาสในการช่วยให้เกิดการพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต
ระยะของโครงการวิจัยในโรคมะเร็ง
ระยะที่หนึ่ง เป็นการศึกษาทดลองในมนุษย์เป็นครั้งแรก ต่อจากการทดสอบในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง จะศึกษาในคนไข้จำนวนน้อย ประมาณ 10-30 คน เพื่อประเมินเรื่องความปลอดภัยของการรักษาในมนุษย์
ระยะที่สอง เป็นการศึกษาในคนไข้ไม่เกิน 100 คน เพื่อประเมินเรื่องประสิทธิภาพของการรักษา
ระยะที่สาม เป็นการศึกษาในคนไข้กลุ่มใหญ่มากขึ้น ประมาณหลายร้อยถึงหลายพันคน ในหลาย ๆประเทศ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบกับการรักษามาตรฐานที่มีอยู่ในแต่ละชนิดและระยะของมะเร็ง เพื่อได้รับการอนุมัติให้เป็นการรักษามาตรฐานใหม่ในอนาคต
ระยะที่สี่ เป็นการศึกษาหลังจากที่ยาได้รับการอนุมัติให้เป็นการรักษามาตรฐานใหม่แล้ว เพื่อศึกษาถึงผลข้างเคียงในระยะยาวของยา
ใครควรเข้าร่วมในโครงการวิจัย?
คนไข้มะเร็งทุกราย ควรพิจารณาโครงการวิจัยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษา นอกจากการรักษามาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าโครงการวิจัยได้ เนื่องจากแต่ละโครงการวิจัยจะมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคนไข้เข้าร่วมที่เฉพาะกับจุดประสงค์ของโครงการวิจัยนั้น ๆ
เป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะ
- คนไข้ที่ต้องการวิธีการรักษาใหม่ ๆ
- คนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่มีอยู่
- คนไข้ที่เป็นมะเร็งชนิดที่อาจรักษายาก และยังไม่มีการรักษาที่ดีพอในปัจจุบัน
ข้อจำกัดของโครงการวิจัย
- เนื่องจากเป็นการรักษาใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์ จึงยังไม่ทราบถึงผลของการรักษาว่าจะดีหรือไม่ รวมทั้งอาจมีผลข้างเคียงของการรักษาได้ แต่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยจะได้รับการดูแลจากทีมผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังผลเสียที่อาจเกิดขึ้นและให้การดูแลรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งยังมีระบบเพื่อดูแลคนไข้ในโครงการวิจัยให้มีความปลอดภัย เช่น คณะกรรมการที่ดูแลการวิจัยในคน
- ต้องเข้าตามเกณฑ์ที่โครงการวิจัยกำหนดไว้ ไม่ใช่ทุกคนสามารถเข้าได้
- ต้องปฏิบัติตามระเบียบของโครงการวิจัยนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจติดตาม การรับประทานยาต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากโครงการวิจัย จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ครงการวิจัยกำหนดไว้
คนไข้ในโครงการวิจัยคือหนูทดลองหรือไม่?
หลายครั้งคนไข้อาจจะกังวลว่าการเข้าร่วมโครงการวิจัยจะกลายเป็นหนูทดลองหรือไม่? หรือได้รับแต่ยาหลอกหรือไม่?
ปัจจุบันโครงการวิจัย จะเป็นการศึกษาเปรียบเทียบกับการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ดังนั้นอย่างน้อย คนไข้จะได้รับการรักษาเทียบเท่ากับการรักษาที่มีอยู่ ไม่ใช่การรักษาแบบยาหลอก รวมทั้งการศึกษาทดลองในมนุษย์ จะต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง และผ่านการศึกษาเป็นระยะของโครงการวิจัยที่กล่าวแล้วข้างต้น
ค่าใช้จ่ายในโครงการวิจัย
ค่าใช้จ่ายตลอดทั้งในโครงการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ค่าตรวจเอ็กซ์เรย์ต่าง ๆ จะครอบคลุมอยู่ในโครงการวิจัยทั้งหมดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากโครงการวิจัย อาจมีการนัดตรวจติดตามที่ใกล้ชิด ดังนั้นคนไข้อาจมีค่าใช้จ่ายในแง่การเดินทางมาโรงพยาบาลบ่อยกว่าปกติได้ ซึ่งสามารถสอบถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ในแต่ละโครงการวิจัยว่ามีการสนับสนุนหรือไม่
TH-8511