การรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยการผ่าตัดนั้น เป็นการรักษาแบบเฉพาะที่ เป็นกระบวนการวินิจฉัยเพื่อรักษาโรคมะเร็งปอด และลดภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะพิจารณาเลือกชนิดการผ่าตัด ให้เหมาะสมกับ ขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ตลอดจนสภาพร่างกายและสมรรถภาพการทำงานของปอดผู้ป่วย
เรียบเรียงโดย นางกนกนาถ ระโหฐาน
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
ภายหลังการผ่าตัดโดยปกติผู้ป่วยจะกลับบ้านได้เมื่อผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การทำงานของปอดและระบบทางเดินหายใจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยควรจะทำกิจวัตรปกติภายในบ้านเอง และเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านได้จนถึงระดับปกติใน 2 สัปดาห์
การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดปอด
- จัดให้นอนศีรษะสูง เพื่อช่วยให้การระบายของเสียในปอดไหลได้สะดวก
- ดูแลสายท่อระบายของเสียไม่ให้พับ หรือมีการอุดตัน
- ท่านอนหลังผ่าตัดปอด ควรนอนตะแคงทับแผลข้างที่ทำการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ปอดข้างที่ดีได้มีการขยายตัวเต็มที่
- หลังผู้ป่วยผ่าตัดใหม่ ๆ ควรกระตุ้นให้มีการหายใจลึกๆ ทุกชั่วโมง กระตุ้นให้ไอขับเสมหะออกให้หมดทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเสมหะ และจิบน้ำอุ่นเพื่อช่วยให้ขับเสมหะออกได้ดีขึ้น
การฟื้นฟูสภาพหลังการผ่าตัด
การฟื้นฟูสภาพหลังการผ่าตัด จะทำขณะผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดแล้ว 1 สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ 2-3 ก่อนกลับบ้านจะฝึกการหายใจลึกๆ การบริหารปอดควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ไม่ควรทำเร็วเกินไป เพราะผู้ป่วยทำการผ่าตัดผูกเส้นเลือด อาจจะมีการหลุดของส่วนที่ผูกขณะให้ฝึกเป่าขวด เป่าลูกโป่ง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หากแพทย์ให้ฝึกได้ ควรฝึกให้ผู้ป่วยหายใจโดยการเป่าลมใส่ขวด หายใจลึกๆ จะช่วยทำให้ปอดที่เหลือแข็งแรง และทำงานได้ดีเร็วขึ้น
การออกกำลังกาย
- ผู้ป่วยควรฝึกการบริหารปอดเพื่อให้ปอดขยายตัวได้ดี อาจบริหารปอดโดยใช้อุปกรณ์ช่วยขยายปอด (Triflow) หรือ การออกกำลังกายเคลื่อนไหวทรวงอกด้วยตนเองร่วมกับการหายใจเข้า-ออกลึก ๆ
- หากต้องการออกกำลังกายแนะนำให้ใช้วิธีการเดิน เหวี่ยงแขนแบบไม่แรงจนเกินไป เนื่องจากการผ่าตัดปอดมักมีแผลผ่าตัดด้านข้างลำตัว ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนี้ในระยะแรกหลังผ่าตัด ดังนั้นจึงควรต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องมีการเหวี่ยงแขนข้างที่มีแผลผ่าตัด เช่น เล่นเทนนิส เล่นกอล์ฟ ว่ายน้ำ เป็นต้น
การรับประทานอาหาร
- การผ่าตัดอาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องอืดได้ง่าย ในระยะแรกหลังผ่าตัดควรจะต้องเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย แต่ละมื้อให้ปริมาณไม่มากก่อน โดยมีอาหารว่างเสริมระหว่างมื้อมาทดแทน
- ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ ครบทุก 5 หมู่
- โดยปกติจะไม่มีอาหารชนิดใดที่ห้ามรับประทาน นอกจากมีข้อห้ามจากโรคอื่นที่ผู้ป่วยเป็นอยู่
การดูแลแผลผ่าตัด
เมื่อกลับบ้านแผลผ่าตัดส่วนใหญ่จะแห้งดีแล้วจึงไม่ต้องทำแผลเป็นพิเศษ ไม่ต้องทายาฆ่าเชื้อ ยกเว้นแผลที่เคยใส่ท่อระบายของเหลวและอากาศจากในช่องปอด ที่อาจต้องปิดแผลไว้ก่อน แล้วมาตัดไหมภายหลัง
นอกจากนี้การผ่าตัดจะทำให้มีการกดทับเส้นประสาทรับความรู้สึกที่ผิวหนังที่อยู่ข้าง ๆ แผล ทำให้หลังผ่าตัดจะมีอาการชาที่ผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัด อาการชานี้จะหายไปเองได้ แต่อาจใช้เวลานาน 1 ถึง 3 เดือน
อ้างอิงที่มา
http://punnarerkcvt.weebly.com/
https://med.mahidol.ac.th/cancer_center/th/knowledge/surgery
http://www.siamca.com/index.php?name=knowledge&file=detail&id=296
TH-8495