อาการไม่พึงประสงค์จากยาภูมิคุ้มกันบำบัด แม้ว่ายาจะออกฤทธิ์โดยการเพิ่มการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกายเฉพาะกับเซลล์มะเร็ง แต่ก็พบว่ายาอาจมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีผลกระทบต่อเซลล์ร่างกายปกติได้ ซึ่งสามารถเกิดได้ในหลายอวัยวะ
เรียบเรียงโดย พญ. ปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์
ผลข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่พบบ่อย ได้แก่
ผื่นผิวหนัง เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดของการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด โดยพบเป็นผื่นแดง, คัน, หรือตุ่มน้ำพุพอง ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องหยุดยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถรักษาด้วยการใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ส่วนน้อยที่จะมีอาการรุนแรง อาจเป็นตุ่มน้ำพุพอง โดยเฉพาะในปาก หรืออวัยวะเพศ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการรุนแรง รบกวนชีวิตประจำวัน หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำแล้ว
ท้องเสีย เป็นผลข้างเคียงของระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยที่สุดของการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด มักพบภายใน 6-8 สัปดาห์แรกของการรักษา จะมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ จำนวนครั้งมากกว่าปกติ, หรือปวดบิด ดังนั้นควรบันทึกการขับถ่ายพื้นฐานก่อนเริ่มยา เพื่อสามารถสังเกตผลข้างเคียงนี้ได้ดีขึ้น และปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการถ่ายเหลวรุนแรง หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย รบกวนชีวิตประจำวัน หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำแล้ว
อ่อนเพลีย เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องหยุดยาภูมิคุ้มกันบำบัด พักผ่อนให้มากขึ้น ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้มีพลังงานที่เพียงพอและครบถ้วน ส่วนน้อยที่จะมีอาการรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอาการนำของความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่อ จึงควรปรึกษาแพทย์ทันที
ตับอักเสบ มักไม่มีอาการผิดปกติ ส่วนมากตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะมีการตรวจเลือดเพื่อติดตามการทำงานของตับอยู่เป็นระยะ ในระหว่างการรักษาอยู่แล้ว และจะพิจารณาหยุดยาตามความเหมาะสม
ปอดอักเสบ เป็นผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง แต่พบน้อย หรืออาจเกิดจากตัวโรคมะเร็ง หรือปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งต้องรีบให้การวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาให้ทันท่วงที ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการทางระบบหายใจผิดปกติ ได้แก่ หอบเหนื่อย ไอผิดปกติ หรือมีไข้ร่วมด้วย
ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย อาจพบการทำงานลดลงผิดปกติ ซึ่งจะมีอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน ขี้หนาว เบื่ออาหาร แต่น้ำหนักเพิ่ม และท้องผูก หรือมีการทำงานเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งจะมีอาการหงุดหงิดง่าย ขี้ร้อน เหงื่อออก มือสั่น ใจสั่น หิวบ่อย แต่น้ำหนักลดลง สามารถตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะมีการตรวจเลือดเพื่อติดตามการทำงานของต่อมไทรอยด์อยู่เป็นระยะ ในระหว่างการรักษาอยู่แล้ว หากพบผิดปกติ จะมีการใช้ยาเพื่อควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย
ต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ ต่อมใต้สมองมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย หากผิดปกติ จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือการมองเห็นผิดปกติ ต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที
TH-11490