เรียบเรียงโดย นพ.นรวรรธน์ พวงวรินทร์ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การรักษาโรคมะเร็งปอดมีหลายวิธี การรักษาแบบมุ่งเป้าหรือที่เรียกว่า targeted therapy เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง โดยใช้ยามุ่งเป้าที่เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ไม่ทำลายเซลล์อื่น ๆ ของร่างกาย จึงมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดแบบมุ่งเป้านี้จะได้ผลดีกับผู้ป่วยทุกราย เราจะต้องตรวจหาความเป็นไปได้ในการรักษาด้วยยามุ่งเป้าโดยการตรวจ biomarker ซึ่งใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยาระดับโมเลกุล เพื่อช่วยประเมินโอกาสที่ผู้ป่วยจะการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามุ่งเป้าแต่ละชนิด
การกลายพันธุ์ที่มีความสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งปอด
การกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งปอดมีความสำคัญในการการรักษาแบบมุ่งเป้า เพราะช่วยบ่งชี้ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใดที่ได้รับการรักษาด้วยยามุ่งเป้าแล้วน่าจะมีผลการรักษาที่ดี เนื่องจากเซลล์มะเร็งปอดที่มีการกลายพันธุ์บางชนิดในบางตำแหน่งของบางยีนเท่านั้นที่จะถูกทำลายได้ด้วยยามุ่งเป้า ในขณะที่การกลายพันธุ์บางชนิดของเซลล์มะเร็งปอดก็เป็นสาเหตุของการดื้อยา
ตัวอย่างการกลายพันธุ์กลุ่มที่เป็นเป้าสำคัญในโรคมะเร็งปอด และช่วยให้แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น เช่น
1. การกลายพันธุ์ของยีน EGFR
พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยชาวไทยที่เป็นโรคมะเร็งปอด (lung adenocarcinoma) มีบทบาทช่วยพยากรณ์การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากลุ่ม EGFR tyrosine kinase inhibitor
2. การเชื่อมต่อกันของยีน ALK หรือยีน ROS1 กับยีนอื่น
พบได้ประมาณร้อยละ 5 และ 2 ตามลำดับ มีบทบาทช่วยพยากรณ์การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากลุ่ม ALK/ROS1 inhibitor
3. การกลายพันธุ์ของยีน BRAF
พบได้ประมาณร้อยละ 5 มีบทบาทช่วยพยากรณ์การตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากลุ่ม BRAF inhibitor
ห้องปฏิบัติการตรวจหาการกลายพันธุ์ได้อย่างไร?
ดีเอ็นเอ เปรียบเสมือนสมุดบันทึกข้อมูลทางพันธุกรรมของเราไว้มากมาย การกลายพันธุ์ก็เหมือนตัวอักษรในสมุดบันทึกที่สะกดผิด เราสามารถตรวจดีเอ็นเอเพื่อหาตัวอักษรที่สะกดผิดนั้น ซึ่งจะทำให้เราทราบว่าเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมีการกลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์ในการรักษาหรือไม่ และแพทย์ควรจะเลือกใช้ยามุ่งเป้าชนิดใด เพื่อที่จะทำให้การรักษาโรคมะเร็งปอดมีประสิทธิผลสูงสุด
เทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจหาการกลายพันธุ์มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งตรวจในระดับดีเอ็นเอโดยการอ่านลำดับเบสบนสายดีเอ็นเอโดยตรง หรือตรวจวิเคราะห์ทางอ้อมโดยใช้เทคนิคที่สามารถบ่งชี้ถึงการกลายพันธุ์ที่ปรากฎอยู่ในตัวอย่าง สำหรับการตรวจหาการเชื่อมต่อกันของยีน อาจตรวจได้จากการจัดเรียงตัวกันของยีน หรือจะตรวจในระดับโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอก็ได้
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจหาการกลายพันธุ์ต่าง ๆ ได้หลายยีนพร้อม ๆ กันทำให้ค่าตรวจและระยะเวลาในการตรวจลดลงเมื่อเทียบกับการตรวจวิเคราะห์ทุกยีนแต่ทำครั้งละยีน อย่างไรก็ตามแต่ละเทคโนโลยีมีข้อดีในการตรวจหาการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันและต่างก็มีข้อจำกัดในทางเทคนิค แพทย์และห้องปฏิบัติการจะพิจารณาเลือกใช้เทคโนโลยีตามความเหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษาผู้ป่วย
สิ่งส่งตรวจสำหรับการตรวจหาการกลายพันธุ์ในมะเร็ง
โดยทั่วไปห้องปฏิบัติการสามารถตรวจหาการกลายพันธุ์จากชิ้นเนื้อบางส่วนของก้อนมะเร็ง แต่ในบางกรณีที่ชิ้นเนื้อมะเร็งหมดไปกับการตรวจวินิจฉัย หรือยังมีชิ้นเนื้อเหลือในปริมาณน้อยมาก ๆ หรือมีคุณภาพไม่ดีพอสำหรับการตรวจหาการกลายพันธุ์ แพทย์ผู้รักษาก็จะเลือกส่งตรวจหาการกลายพันธุ์ด้วยสิ่งส่งตรวจชนิดอื่น เช่น สารน้ำจากช่องเยื่อหุ้มปอด หรือเลือด เป็นต้น
ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเซลล์มะเร็งนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยามุ่งเป้าระยะหนึ่งแล้วดื้อยาในภายหลัง อาจมีสาเหตุจากการกลายพันธุ์อื่น การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อใหม่จากก้อนมะเร็งหรือเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์หาการกลายพันธุ์เพิ่มเติม อาจจะพบการกลายพันธุ์อื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาต่อไป
โดยสรุปแล้ว การรักษาโรคมะเร็งปอดแบบมุ่งเป้านั้นใช้ยาที่ออกฤทธิ์เจาะจงกับเซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์บางชนิด การตรวจ Biomarker โดยใช้ตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือเลือดเพื่อวิเคราะห์หาการกลายพันธุ์ต่างๆเหล่านั้นก่อนได้รับยามุ่งเป้า จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ตรงจุดและสัมฤทธิ์ผล
TH-18528