เรียบเรียงโดย นพ. ชวลิต ชยางศุ
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง
ทุกคนคงกลัวคำว่ามะเร็ง และไม่มีใครอยากจะคบค้าสมาคมด้วย…จริงไหม?
แล้วเราจะมีวิธีป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
การป้องกันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ
- การป้องกันระดับปฐมภูมิ (primary prevention)
ซึ่งคือ การจัดการเอาปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งออกไป ได้แก่ การฉีดวัคซีน เอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันโรคตับแข็งอันนำไปสู่มะเร็งตับ ในส่วนของมะเร็งปอดนั้นที่สำคัญ คือ การไม่สูบบุหรี่และหยุดสูบบุหรี่…ใครที่ยังสูบบุหรี่อยู่บ้าง หยุดเถอะครับ…เชื่อหมอ (สายด่วนเลิกบุหรี่ โทร.1600)
2. การป้องกันระดับทุติยภูมิ (secondary prevention)
คือ การตรวจหาและให้การรักษาตั้งแต่โรคมะเร็งยังไม่แสดงอาการ เมื่อพบเร็วก็หายขาดได้ การป้องกันระดับนี้ก็คือความหมายของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนั่นเองครับ
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด ทำอย่างไรได้บ้าง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์และแนะนำให้ทำ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งปอด
ในปัจจุบันการคัดกรองโรคมะเร็งปอด เราใช้วิธีตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีขนาดต่ำ หรือ Low Dose CT (LDCT) ซึ่งจะให้ภาพ 3 มิติบริเวณปอดที่มีรายละเอียดดี สามารถตรวจพบจุดหรือก้อนเล็ก ๆ ได้ โดยใช้ปริมาณรังสีที่ไม่สูงและไม่ต้องฉีดสารทึบแสง
LDCT มีข้อมูลที่ช่วยลดอัตราตายจากโรคมะเร็งปอดได้ 15-20% เมื่อเปรียบเทียบกับการทำเอกซเรย์ปอดแบบปกติโดยแนะนำให้ทำปีละ 1 ครั้ง เฉพาะผู้ที่มีข้อบ่งชี้เหล่านี้ ได้แก่
- มีอายุตั้งแต่ 55 ปีจนถึง 80 ปี
- ยังสูบบุหรี่อยู่ และโดยเฉลี่ยมากกว่า 30 ซองต่อปี
- ถ้าเลิกสูบบุหรี่แล้ว ต้องเลิกมาไม่นานเกิน 15 ปี
- สุขภาพร่างกายแข็งแรง และพร้อมที่จะรับการรักษาด้วยการผ่าตัดได้ กรณีที่พบความผิดปกติจากการคัดกรอง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด ที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้รู้ว่าโรคมะเร็งนั้นอยู่ในระยะไหนแล้ว และหากรู้ได้เร็วมากขึ้นเท่าไหร่ การรักษาก็จะทำได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย
เห็นไหมครับว่าปัจจุบันเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถช่วยเราห่างไกลจากโรคมะเร็งปอดได้ แต่อย่าลืมนะครับ สิ่งสำคัญที่สุดคือการไม่สูบบุหรี่นั่นเอง
TH-18530