ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของร่างกายจากรอยโรค ภาวะหลังผ่าตัดปอด อาการปวด และการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลดลง ทุกปัจจัยที่กล่าวมาล้วนมีผลทำให้ ปริมาตรของปอด ลดลง ส่งผลให้ในการหายใจเข้าแต่ละครั้งปอดสามารถจุอากาศได้น้อยลง ทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อย
ดังที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น เมื่อร่างกายไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้อย่างเพียงพอ ปริมาณออกซิเจนในเลือดจึงลดลง เป็นเหตุให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้
- หายใจหอบเหนื่อย
- หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- รู้สึกสับสน มึนงง การรับรู้สติลดลง
- อาจหมดสติในรายที่สมองขาดออกซิเจนรุนแรง
การเรียนรู้และปฏิบัติวิธีการเพิ่มปริมาตรปอดเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในผู้ป่วยมะเร็งปอดในทุก ๆ ระยะ ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาอาการผิดปกติที่เกิดจากปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ
การเพิ่มปริมาตรปอดที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเอง
1. การออกกำลังกายขยายทรวงอก (Costal breathing exercise)
การออกกำลังกายขยายทรวงอก เป็นการออกกำลังกายโดยให้ผู้ป่วยหายใจให้ลึกกว่าการหายใจในปกติ สามารถเน้นเฉพาะส่วนของปอด การออกกำลังกายขยายทรวงอกนี้ ผู้ป่วยสามารถทำได้เองเฉพาะทรวงอกส่วนบนและส่วนกลางเท่านั้น
วิธีการออกกำลังกายขยายทรวงอกส่วนบน
เริ่มจากผู้ป่วยวางมือบริเวณอกส่วนบน (ดังรูปที่ 1) ออกแรงกดเล็กน้อย จากนั้นหายใจเข้าให้ลึกให้ทรวงอกบริเวณที่มือวางอยู่นั้นดันมือและขยายออก เมื่อหายใจออกทรวงอกจะแฟบออกแรงกดที่มือเล็กน้อยเพื่อเป็นแรงช่วยในการหายใจออก
วิธีการออกกำลังกายขยายทรวงอกส่วนกลาง เริ่มจากผู้ป่วยวางมือบริเวณอกส่วนกลาง (ดังรูปที่ 2) ออกแรงกดเล็กน้อย จากนั้นหายใจเข้าให้ลึกให้ทรวงอกบริเวณที่มือวางอยู่นั้นดันมือและขยายออก เมื่อหายใจออกทรวงอกจะแฟบออกแรงกดที่มือเล็กน้อยเพื่อเป็นแรงช่วยในการหายใจออก
วิธีการออกกำลังกายขยายทรวงอกส่วนล่าง เริ่มจากให้ผู้ดูแลผู้ป่วยวางมือบริเวณอกส่วนล่าง (ดังรูปที่ 3) ออกแรงกดเล็กน้อย จากนั้นหายใจเข้าให้ลึกให้ทรวงอกบริเวณที่มือวางอยู่นั้นดันมือและขยายออก เมื่อหายใจออกทรวงอกจะแฟบออกแรงกดที่มือเล็กน้อยเพื่อเป็นแรงช่วยในการหายใจออก
2. การหายใจแบบเทคนิค SMI (Sustained maximum inspiration)
การหายใจแบบเทคนิค SMI เป็นวิธีการหายใจที่นิยมใช้เพื่อช่วยเรื่องการขยายตัวของปอด โดยมีวิธีการ ดังนี้
- หายใจเข้าเต็มที่ ร่วมกับการกลั้นหายใจค้างไว้ 3 วินาที ก่อนหายใจออกปกติ
อ้างอิงที่มา
กรอนงค์ ยืนยงชัยวัฒน์, จิตานันท์ เหล่าศิริไพศาล, นพวรรณ จารุสุสินธ์. (2551). ตำรากายภาพบำบัดในระบบหัวใจและระบบหายใจ Cardiopulmonary Physical Therapy. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
TH-4734