เรียบเรียงโดย พญ.ดนิตา กานต์นฤนิมิต
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
การรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกนั้น มักเป็นการรักษาแบบเฉพาะที่ ซึ่งได้แก่การผ่าตัด หรือการฉายรังสีการรักษาหลักสำหรับคนไข้กลุ่มนี้ คือ การผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดก็ก้าวหน้าไปมากกว่าในอดีตมาก ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการรักษาโรคมะเร็งปอดแบบเฉพาะที่ที่เป็นมาตรฐาน ประกอบด้วย การผ่าตัด หรือ การฉายรังสี
การผ่าตัด
มีเป้าหมายเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้ โดยทั่วไปไม่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กซึ่งมักมีการแพร่กระจายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว
ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระยะที่ 1-2 และบางรายของระยะที่ 3 การผ่าตัดมะเร็งปอดมาตรฐาน ประกอบด้วย การผ่าเอาปอดกลีบที่มีรอยโรคออกร่วมกับตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอก (lobectomy and mediastinal node dissection) ซึ่งปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดมีการพัฒนามากขึ้น เช่น การผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (Video-Assisted Thoracic Surgery, VATS) ซึ่งจะมีแผลเล็กและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นภายหลังการผ่าตัด
ปัจจุบันการผ่าตัดเนื้อปอดมี 4 ชนิด ดังนี้
1. Pneumonectomy คือ การผ่าตัดเอาปอดออกทั้งข้างอาจจำเป็นใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอยู่ติดกับขั้วปอด
2. Lobectomy เป็นการผ่าตัดที่แนะนำสำหรับมะเร็งปอดทั่วไป โดยปอดปกติมี 2 ข้าง ซ้ายและขวาในแต่ละข้างจะแบ่งย่อยเป็นกลีบปอด โดยปอดซ้ายแบ่งเป็น 2 กลีบและปอดขวาแบ่งเป็น 3 กลีบ การผ่าตัด lobectomy คือ การผ่าตัดเอาปอดกลีบที่มีรอยโรคออก
3. Segmentectomy หรือ Wedge resection คือ การผ่าตัดเอาบางส่วนของกลีบปอดที่มีรอยโรคออก
4. Sleeve resection คือ การตัดต่อขั้วปอด เป็นเทคนิคที่อาจพิจารณาใช้แทนการทำ pneumonectomy ในผู้ป่วยบางรายเพื่อรักษาการทำงานของปอดส่วนที่เหลืออยู่
ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาเลือกชนิดการผ่าตัด ให้เหมาะสมกับ ขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง สภาพร่างกายและสมรรถภาพการทำงานปอดของผู้ป่วย
การฉายรังสี
การฉายรังสี โดยทั่วไปมีบทบาทที่ใช้ดังนี้
1. การฉายรังสีภายหลังการผ่าตัด (Postoperative radiotherapy) การฉายรังสีภายหลังการผ่าตัด ใช้เพื่อเพิ่มโอกาสการควบคุมโรค โดยพิจารณาเมื่อมีข้อบ่งชี้ ดังนี้
- ผ่าตัดออกได้ไม่หมดหรือตรวจพบเซลล์มะเร็งที่ขอบชิ้นเนื้อที่ผ่าตัดออกมา (R1 or R2 resection)
- พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองบริเวณทรวงอก (mediastinum)
2. การฉายรังสีก่อนการผ่าตัด (Preoperative chemoradiotherapy) ส่วนมากใช้ร่วมกับเคมีบำบัด เพื่อให้ก้อนมะเร็งยุบลงก่อนทำการผ่าตัด
3. การฉายรังสีแทนการผ่าตัด จะใช้ในรายที่ไม่เหมาะสมกับการผ่าตัด โดยพิจารณาจากสภาพร่างกาย และระยะของโรค
- รังสีร่วมพิกัดหรือรังสีศัลยกรรม Stereotactic Body radiotherapy or Stereotactic Ablative Radiotherapy (SBRT or SABR) เหมาะกับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นที่ก้อนมะเร็ง มีขนาดเล็ก และไม่มีการแพร่กระจายในต่อมน้ำเหลือง
- Defiinitive chemoradiotherapy ส่วนมากใช้ร่วมกับเคมีบำบัดเพื่อหวังผลหายขาดในผู้ป่วย ที่โรคมีการลุกลามของโรคเฉพาะที่ เช่นก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีการแพร่กระจาย
4. การฉายรังสีเพื่อประคับประคอง และบรรเทาอาการจากโรค (Palliative radiotherapy)
การฉายรังสีแบ่งเป็น 2 ชนิด
1. การฉายรังสีระยะไกล (External beam radiotherapy) ลำรังสีผลิตออกมาจากเครื่องฉายรังสีนับเป็นชนิดที่ใช้บ่อยและมีใช้แพร่หลายสำหรับมะเร็งปอด โดยแบ่ง ตามเทคนิคได้ ดังนี้
- การฉายรังสี 3 มิติ (3D-conformal radiotherapy) คือ การนำภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาใช้ในการกำหนดตำแหน่งและการกระจายของรังสี
- การฉายรังสีด้วยวิธีปรับความเข้มของลำรังสี (Intensity modulated radiotherapy) เป็นการพัฒนาอีกขั้นของการฉายรังสี 3มิติ โดยการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการกำหนดการกระจายรังสีและปรับความเข้มของลำรังสีในบริเวณต่างvๆ
- การฉายรังสีร่วมพิกัดหรือรังสีศัลยกรรม (Stereotactic body radiotherapy) ซึ่งเป็นการใช้รังสีในปริมาณและความแม่นยำสูง
ปัจจุบันเทคนิคการฉายรังสีมีการพัฒนาอย่างมาก เช่น การฉายรังสีด้วยเทคนิคดังกล่าวข้างต้นสามารถทำร่วมกับเทคนิคการจำลองภาพแบบ 4 มิติ ที่มีความแม่นยำมากขึ้นในการกำหนดตำแหน่งของรอยโรคในปอด เพิ่มโอกาสการควบคุมโรค ในขณะเดียวกันสามารถลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีได้อย่างดี เช่น มะเร็งปอดระยะที่ 1 ที่สภาพร่างกายผู้ป่วยไม่เหมาะสมเข้ารับการผ่าตัด เทคนิครังสีร่วมพิกัดได้ผลดี เนื่องจากมีความแม่นยำสูงและใช้ระยะเวลาการรักษาน้อยเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกรณีรอยโรคเป็นระยะที่ 2-3 การฉายรังสีมักทำควบคู่กับการให้ยาเคมีบำบัด และจะใช้เวลา 6-7 สัปดาห์ ในการเข้ารับการฉายรังสี สำหรับผู้ป่วยในระยะที่ 4 ซึ่งอาจพบการแพร่กระจายในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
การฉายรังสีสามารถช่วยบรรเทาอาการเฉพาะที่ในบริเวณต่าง ๆ เช่น อาการผิดปกติของระบบประสาท อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากการแพร่กระจายในสมอง หรือช่วยลดอาการปวดจากรอยโรคแพร่กระจายในกระดูก
2. การฉายรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) ใช้เพื่อบรรเทาอาการเฉพาะที่ในรายที่โรคที่การอุดกลั้นทางเดินหายใจ โดยจะมีการใส่อุปกรณ์ผ่านทางการส่องกล้องทางเดินหายใจ Bronchoscopy
เพื่อส่งผ่านสารกัมมันตรังสีไปยังบริเวณรอยโรคที่อุดกลั้นนั้น ๆ อย่างไรก็ตามปัจจุบันสามารถเลือกใช้เลเซอร์แทนการใช้สารกัมมันตรังสีได้ การใช้เลเซอร์นี้จะทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่ทำการส่องกล้อง การรักษาเฉพาะที่เหมาะกับใครบ้างไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะสมกับการผ่าตัด ทั้งนี้ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเบื้องต้นสภาพร่างกายผู้ป่วย ที่ต้องพร้อมรับการผ่าตัด มีการตรวจประเมินทั้งระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ตรวจประเมินสมรรถภาพการทำงานของปอดระยะและการลุกลามของโรคเฉพาะที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ในรายที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากรอยโรคอยู่ในบริเวณสำคัญและยากต่อการผ่าตัด หรือในรายที่โรคมีการแพร่กระจายมากในระยะที่ 4 อาจจะเลือกใช้การฉายรังสีเป็นการรักษาเฉพาะที่แทนการผ่าตัด การฉายรังสีสามารถใช้ได้ในทุกระยะของโรค ทั้งนี้จะมีเทคนิคและการกำหนดปริมาณรังสี รวมถึงเป้าหมายการรักษาที่แตกต่างกันไปตามระยะของโรคตามที่กล่าวไปเบื้องต้น
TH-8508